Categories
News

ช่วงฤดูฝนแล้ว มีโรคผิวหนังอะไรบ้างที่ต้องระวัง!

ช่วงฤดูฝนแล้ว มีโรคผิวหนังอะไรบ้างที่ต้องระวัง! ฝนตกบ่อย ๆ ทำให้เกิดความอับชื้น ซึ่งกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อรา และแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคผิวหนังได้ ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนแล้ว มีโรคผิวหนังอะไรบ้างที่ต้องระวัง!

โรคผิวหนังที่ต้องเผชิญในฤดูฝน

1 ผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากเชื้อรา
– โรคเกลื้อน ซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Pityrosporum อาศัยอยู่ในรูขุมขนของคน และกินไขมันในรูขุมขนเป็นอาหาร พบได้บ่อยบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมัน เช่น หน้า ต้นคอ หน้าอก หลัง โดยจะมีลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลายวง ขนาดตั้งแต่ 1 มม. บริเวณรอบๆ รูขุมขนหรือรวมกันจนเป็นปื้นใหญ่ มีขุยละเอียด สีแตกต่างกัน
– โรคกลาก มีลักษณะเป็นผื่นวงมีขอบเขตชัดเจน มีขุย เริ่มต้นด้วยอาการคัน ตามด้วยผื่นแดงต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อย ๆ และมักจะคันมากขึ้น ส่วนใหญ่พบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น หนังศีรษะ รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า

วิธีรักษา
* แนะนำให้ใช้ยาทาและยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทานภายใต้คำแนะนำของแพทย์
* เลือกสบู่ หรือแชมพูที่มีส่วนผสมของสารคีโตโคนาโซน หรือสารเซเลเนียมซัลไฟล์ โดยให้ผู้ป่วยอาบน้ำฟอกตัวให้สะอาดด้วยสบู่ตามปกติ เมื่อเสร็จแล้วอย่าเพิ่งเช็ดน้ำที่ติดบนผิวหนังออก แต่ใช้แชมพูยาลูบไปทั่วบริเวณที่เป็น ทิ้งไว้นาน 5 นาที แล้วจึงอาบน้ำล้างแชมพูออก อย่าปล่อยทิ้งแชมพูยาให้อยู่บนผิวหนังนานเพราะอาจเกิดอาการระคาย จากแชมพูยาได้
* รักษาสุขอนามัย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัวควรจะซักและนำออกผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้เสมอ
* ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า หรือ ผ้าเช็ดตัว
* แนะนำให้อาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้เหงื่อไคลหมักหมม

2. รังแค
สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดรังแคบนหนังศีรษะ คือ “เชื้อรา” ที่เจริญเติบโตได้ดีในอากาศเปียกชื้น โดยเฉพาะในหน้าฝนที่หนังศีรษะมีโอกาสเปียกฝนได้ทุกเมื่อ ทำให้หลายคนจำเป็นต้องสระผมบ่อยขึ้นเพื่อชะล้างเอาสิ่งสกปรกต่างๆ ที่มากับฝนออกไป แค่เช็ดผมให้แห้งหรือปล่อยให้ผมแห้งเองนั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะนั่นอาจเป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อรา รังแค และหนังศีรษะได้ ทำให้มีอาการคัน ในบางรายที่รุนแรงรังแคจะมีสีเหลืองเป็นไข เกร็ดใหญ่ขึ้น ซึ่งเกิดจากต่อมไขมันของหนังศีรษะอักเสบ

วิธีป้องกัน
* หลีกเลี่ยงการนอนหลับขณะที่ผมยังเปียกชื้น เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อราและรังแคบนหนังศีรษะ
* หลีกเลี่ยงการขยี้เส้นผมหรือเกาหนังศีรษะแรงๆ ขณะสระผม เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อจนนำมาสู่ปัญหารังแคและผมร่วมได้
* หลีกเลี่ยงการใช้น้ำอุ่นสระผม เพราะจะทำให้น้ำมันธรรมชาติถูกชะล้างออกมากไป หนังศีรษะแห้ง และยังทำให้เส้นผมกระด้างด้วย
* หมั่นทำความสะอาดแปรงหรือหวีอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพราะสิ่งสกปรกและน้ำมันที่ตกค้างอยู่ตามหวีและแปรงอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคได้

3. โรคน้ำกัดเท้า
เกิดจากการระคายเคืองของผิวหนังเนื่องจากความเปียก อับชื้น และการสัมผัสสิ่งสกปรกต่างๆ ในน้ำท่วมขัง หลังฝนตก จึงมีโอกาสเปียกชื้นสูง ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ ผิวหนังเปื่อยลอก โดยเฉพาะซอกนิ้วเท้าอาจมีผื่นแดงคันตามซอกนิ้วเท้าและผิวลอกออกเป็นขุยขาวๆ ได้ ในบางรายอาจมีการติดเชื้อราที่มีชื่อว่า “Dermatophytes” ร่วมด้วย

เนื่องจากเชื้อราเจริญเติบโตได้ดีในอากาศชื้น นอกจากนี้ การหมักหมมของเหงื่อและการไม่รักษาความสะอาดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการเกิดโรคน้ำกัดเท้าได้อีกด้วย

วิธีป้องกัน
* หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำสกปรกโดยตรง หรือการแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ
* หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำท่วมขัง ให้ใส่รองเท้าบู๊ทยาง
* หลังจากสัมผัสน้ำท่วมขัง ให้ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที และเช็ดเท้าให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้ว
* ใส่ถุงเท้าที่สะอาดและไม่เปียกชื้นอยู่เสมอ
* หากมีบาดแผลถลอกในบริเวณที่สัมผัสน้ำสกปรกควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อชะล้างหลังการสัมผัสทันที

4. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
เป็นโรคที่พบมากขึ้นในช่วงฤดูฝน เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นของอากาศเปลี่ยนแปลงไป สังเกตจากมีผื่นแดง แห้งลอก มีอาการคันมากที่บริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา ใบหน้า แขน ขา และซอกคอ

วิธีป้องกัน
* ทำความสะอาดร่างกายและล้างมืออยู่เสมอ
* ใช้สบู่อ่อน ๆ ไม่มีน้ำหอม ไม่มีสารกันเสีย และอ่อนโยนต่อผิว
* ทาโลชั่นทุกครั้งหลังอาบน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว
* หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดมาก เนื้อหยาบหนา หรือผ้าขนสัตว์ ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว
* หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่นละออง แมลง และยุงชุกชุม
* รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

5. ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง

ในฤดูฝนจะมีการเพิ่มจำนวนของแมลงหลากหลายชนิด เช่น ยุง หมัด ไร ด้วงก้นกระดก หากสัมผัสอาจเกิดเป็นผื่นผิวหนังอักเสบได้หากมีอาการแพ้รุนแรงควรพบแพทย์

วิธีป้องกัน
* รักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เช่น หมั่นทำความสะอาดเครื่องเรือน หมอนหรือเสื้อผ้าต้องตากในที่มีอากาศถ่ายเท และสะบัดก่อนเก็บเข้าบ้าน หากมีรังของแมลงให้รีบกำจัด
* เนื่องจากประเทศไทยเป็นเขตร้อนมีแมลงเป็นจำนวนมาก แนะนำให้ติดมุ้งลวดที่หน้าต่างและประตู หากมีร่องหรือช่องตามมุมของบ้านควรปิดรูให้สนิทกันแมลงเข้าบ้าน
* ในเด็กเล็กเวลาออกไปเล่นนอกบ้านควรทายาหรือโลชั่นกันแมลง
* ในช่วงที่มีผื่นเกิดขึ้นควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารทะเล เนื้อวัว ของแสลงต่างๆ ควรเน้นทานผักผลไม้ น้ำสะอาด และขับถ่ายทุกวัน
* ในช่วงที่มีผื่นเกิดขึ้นควรตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันเกิดการติดเชื้อที่อาจเกิดจากการเกา